ความเป็นมาของสถาบัน
พระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 มาตรา 13 กำหนดให้ "สถานศึกษาอาชีวศึกษาสามารถรวมกันเป็นสถาบันได้ การรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อจัดตั้งเป็นสถาบันการอาชีวศึกษาให้กระทำได้โดยคำแนะนำของคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และคำนึงถึงการประสานความร่วมมือให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง..."
คณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) จึงได้มีประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การรวมและการแยกสถานศึกษาเพื่อจัดตั้งเป็นสถาบันการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2554 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2554 ตามมาตรา 13
โดยมีหลักการสำคัญ 5 ประการ ดังนี้
- ความเป็นเลิศในการจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ โดยมีกระบวนการผลิตและพัฒนากำลังคน เพื่อเพิ่มผลผลิตและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของประเทศให้ได้ระดับมาตรฐานสากล
- การกระจายอำนาจไปสู่ระดับปฏิบัติ เพื่อให้การจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพในทุกระดับ มีคุณภาพและประสิทธิภาพเกิดผลสำเร็จแก่ประชาชน โดยเฉพาะนักเรียนและนักศึกษา
- ตอบสนองความต้องการการผลิตและการพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพ ระดับฝีมือ ระดับเทคนิค ระดับเทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งเป็นการยกระดับการศึกษาวิชาชีพให้สูงขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
- การประสานความร่วมมือให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากรและเทคโนโลยีชั้นสูง จากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและชุมชน ในการพัฒนาศักยภาพของการจัดการอาชีวศึกษา
- การประกันคุณภาพและการกำกับมาตรฐาน ตามมาตรฐานวิชาชีพในระดับสากล
จากประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษาดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจึงได้ทำการประเมินสถานศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อเข้าร่วมจัดตั้งเป็นสถาบันการอาชีวศึกษา และเสนอร่างกฎกระทรวงการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อจัดตั้งเป็นสถาบันการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2555 19 สถาบัน ผ่านคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2555 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2555
สำหรับ กรุงเทพมหานคร มีสถานศึกษาจำนวน 13 วิทยาลัย เข้าร่วมจัดตั้งเป็นสถาบันการอาชีวศึกษา ใช้ชื่อว่า สถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร ซึ่งต่อมาสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้มีคำสั่งที่ 1333/2555 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2555 แต่งตั้งให้นางสาวชมพูนุช บัวบังศร ผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการเชตุพน ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพมหานครและให้จัดตั้งสำนักงานสถาบันชั่วคราว ณ วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ต่อมาได้มีประกาศสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2558 เรื่อง ที่ตั้งสำนักงานสถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร สถานที่ตั้งวิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม เลขที่ 19 ซอยเอกชัย 116 ถนนเอกชัย แขวงบางบอน เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ 10150 และคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สอศ. 1028/2558 แต่งตั้ง นางสาวชมพูนุช บัวบังศร ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558
สถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร จึงมีสถานศึกษาในสังกัดจำนวน 13 สถานศึกษา ประกอบด้วย
- วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี ที่ตั้ง 57 ถนนสีหบุรานุกิจ เขตมีนบุรี กรุงเทพ 10510
- วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกมหานคร ที่ตั้ง 73 หมู่ 18 ถนนคุ้มเกล้า แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร 10510
- วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง ที่ตั้ง 425 ถนนสรงประภา แขวงดอนเมือง เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210
- วิทยาลัยเทคนิคดุสิต ที่ตั้ง 76 ซอยระนอง 2 เขตดุสิต กรุงเทพ 10300
- วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม ที่ตั้ง 19 ซ.เอกชัย 116 ถ.เอกชัย แขวงบางบอน เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร 10150
- วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา 331 ถนนบ้านหม้อ แขวง วังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
- วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี 182 ถนนจรัญสนิทวงศ์ 13 แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600
- วิทยาลัยพณิชยการอินทราชัย 467 ซอย รามคำแหง 39 เขตวังทองหลาง, กรุงเทพ 10310
- วิทยาลัยพณิชยการบางนา 22 ถนนบางนา-ตราด 1 เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
- วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน 126 ถนนประชาอุทิศ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพ 10150
- วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี 939 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 13 เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพ 10600
- กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง ในพระบรมมหาราชวังพระราชวัง พระนคร กรุงเทพฯ 10200, วิทยาเขตศาลายา 299/1 หมู่ 5 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
- วิทยาลัยการอาชีพกาญจนาภิเษกหนองจอก 66 หมู่ 8 ถนนรวมพัฒนาซอย 6 แขวง ลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพฯ 10530
สถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีการบริหารจัดการตามโครงสร้างการบริหารสถาบัน ประกอบด้วย สภาสถาบัน ผู้อำนวยการสถาบัน รองผู้อำนวยการสถาบัน สำนักงานผู้อำนวยการสถาบัน สำนักพัฒนายุทธศาสตร์และความร่วมมืออาชีวศึกษา สำนักพัฒนากิจการนักศึกษาและกิจการพิเศษ อาชีวศึกษาบัณฑิต ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาชีวศึกษา มีนายกสภาสถาบันคนแรก ชื่อ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา ดำรงตำแหน่ง ประมาณ 2 ปี ได้ลาออกเพื่อไปเข้ารับการสรรหาเป็นคณบดีแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แต่งต้งให้ รศ.ดร.จีรเดช อู่สวัสดิ์ เป็นนายกสภาคนที่ 2 ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ถึง 21 ธันวาคม 2564 และดร.ศิริพรรณ ชุมนุม เป็นนายกสภาคนที่ 3 ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน